เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต] 1. ปฐมวรรค 4. ปิยสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้รักกันทำความเจริญใดให้แก่ผู้ที่ตนรักได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความ
เจริญนั้นแก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ถ้าบุคคลรู้ว่ารักตน ก็ไม่พึงชักนำตนไปในทางชั่ว
เพราะความสุขนั้นบุคคลผู้มักทำชั่วจะไม่ได้โดยง่าย
เมื่อบุคคลถูกความตายครอบงำ
ก็จะต้องละทิ้งภพมนุษย์ไป
ก็อะไรเล่าเป็นสมบัติของเขา
และเขาจะนำอะไรไปได้
อนึ่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป
ดุจเงาติดตามตัวไป ฉะนั้น
สัตว์ผู้จะต้องตายในโลกนี้
ทำกรรมอันใด คือบุญและบาปทั้ง 2 ประการ
บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา
ทั้งเขาจะนำเอาบุญและบาปนั้นไปได้
อนึ่ง บุญและบาปนั้นย่อมติดตามเขาไป
ดุจเงาติดตามตัวไป ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี
สะสมไว้เป็นสมบัติในโลกหน้า
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

ปิยสูตรที่ 4 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต]
1. ปฐมวรรค 5. อัตตรักขิตสูตร

5. อัตตรักขิตสูตร
ว่าด้วยผู้รักษาตน

[116] พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘ชนเหล่าไหนหนอชื่อว่ารักษาตน ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักษาตน’
ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ก็ชนบางพวกประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักษาตน’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายใน ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักษาตน ส่วนชนบางพวกประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักษาตน แม้ว่าพลช้าง พลม้า พลรถหรือพลเดินเท้า
ไม่รักษาเขาก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักษาตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอก ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักษาตน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น ก็ชนบางพวกประพฤติกายทุจริต ฯลฯ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักษาตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายใน ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักษาตน ส่วนชนบางพวกประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักษาตน แม้ว่าพลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้า
ไม่รักษาเขาก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักษาตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอก ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักษาตน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :134 }